วันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2556

มหาลัยน่าเรียน



ตรามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.jpg
พื้นที่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาแห่งนี้ เดิมเป็นส่วนหนึ่งของวังสวนสุนันทา ซึ่งเป็นเขตพระราชฐานภายในบริเวณของพระราชวังดุสิต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนพระอิริยาบถแทนการเสด็จประพาสหัวเมือง พระองค์มีพระราชประสงค์ให้สวนนี้มีลักษณะเป็นสวนป่า จึงโปรดเกล้าฯ ให้หาพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลที่ดีและหาได้ยากนานาชนิดมาปลูกไว้ในสวนแห่งนี้ด้วย ที่มาของชื่อสวนแห่งนี้มาจากชื่อสวนของพระอินทร์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งมีชื่อว่า "สุนันทาอุทยาน" และพระนามของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พระมเหสีซึ่งเป็นที่รักยิ่งของพระองค์ ซึ่งได้สิ้นพระชนม์จากเหตุเรือล่มระหว่างเสด็จประพาสพระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกจากนี้พระองค์ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตำหนักขึ้นเพื่อเตรียมไว้เป็นที่ประทับของเจ้านายฝ่ายใน แต่เนื่องจากพระองค์เสด็จสวรรคตเสียก่อน การสร้างจึงยังไม่แล้วเสร็จตามพระราชประสงค์
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ได้ทรงพระราชดำริว่าสถานที่ในพระบรมมหาราชวังชั้นในคับแคบ ไม่เหมาะสมจะเป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน จึงโปรดให้สร้างพระตำหนักและตึกในบริเวณสวนสุนันทาขึ้นอีกหลายหลัง แล้วโปรดให้เป็นที่ประทับของพระมเหสี เจ้าจอมมารดา เจ้าจอมและพระราชธิดาใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 32 ตำหนัก รวมทั้งอาคารที่พักของบรรดาข้าราชบริพาร โดยมีสมเด็จพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฎ ปิยมหาราชปดิวรัดา ได้เสด็จมาประทับ ณ ตำหนักสายสุทธานพดล (ตึก 27) ตั้งแต่ พ.ศ. 2467 ถึง พ.ศ. 2472 (สิ้นพระชนม์ ณ ตำหนักที่ประทับสวนสุนันทา) เนื่องจากในสมัยนั้นบรรดาขุนนาง ข้าราชการ ผู้มีบรรดาศักดิ์นิยมนำบุตรี และหลานของตนมาถวายตัวต่อสมเด็จพระวิมาดาเธอฯ เป็นจำนวนมาก สมเด็จพระวิมาดาเธอฯ จึงทรงให้สร้าง "โรงเรียนนิภาคาร " ขึ้นภายในสวนสุนันทา สอนตามหลักสูตรการศึกษาในสมัยนั้น รวมทั้งอบรมจริยา มารยาท การฝีมือ ให้เป็นกุลสตรี
ครั้นถึงปี พ.ศ. 2475 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้น บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ ในสวนสุนันทาหวั่นเกรงภัยจากการเมือง จึงได้ทะยอยกันออกไปจากสวนสุนันทาจนหมดสิ้น บางพระองค์ได้เสด็จออกไปอยู่หัวเมืองและหลายพระองค์เสด็จลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ โรงเรียนนิภาคารจึงเลิกดำเนินการไปโดยปริยาย นับแต่นั้นมาสวนสุนันทาที่เคยงดงามก็ถูกทอดทิ้ง ขาดการดูแลเอาใจใส่ ตำหนักต่างๆ ชำรุดทรุดโทรมเป็นอันมาก พื้นที่ภายในรกร้างว่างเปล่า ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เห็นว่าสวนสุนันทาถูกทอดทิ้งรกร้างอยู่มิได้ทำประโยชน์ จึงเห็นสมควรให้นายกรัฐมนตรีได้ใช้ประโยชน์ เป็นที่อยู่อาศัยของรัฐมนตรีและผู้แทนราษฎร แต่สภาผู้แทนราษฎรขอเพียงพื้นที่ภายนอกกำแพงติดถนนสามเสนสร้างเป็นบ้านพักของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น คณะรัฐมนตรีจึงลงมติเห็นสมควรว่า ควรใช้สถานที่นี้ให้เป็นประโยชน์แก่การศึกษาและมอบให้กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน) ดำเนินการจัดตั้งให้เป็นสถานศึกษาของชาติ และสถานที่ศึกษานี้ให้ชื่อโดยคงชื่อเดิมของสถานที่ เพื่อเป็นอนุสรณ์ โดยขนานนามว่า "โรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัย " เริ่มเปิดการศึกษามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2480 เป็นต้นมา จนกระทั่งปัจจุบัน ดั่งคำขวัญ มหาวิทยาลัยที่วาจากพระราชอุทยาน สู่ สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

มหาวิทยาลัยน่าเรียน

KU logo.jpg

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดสอนหลักสูตรทางด้านการเกษตร ก่อตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศ โดยมีปณิธาณในการก่อตั้งเพื่อเป็นคุณประโยชน์แก่การกสิกรรมและการเศรษฐกิจของประเทศ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เริ่มต้นจากการเป็นโรงเรียนช่างไหมในปี พ.ศ. 2447ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนการเพาะปลูก หลังจากนั้นรวมเข้ากับโรงเรียนแผนที่เป็นโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการ มีผลให้วิทยาการทางการเกษตรพัฒนาและก้าวหน้า ใน พ.ศ. 2486 รัฐบาลได้ปรับปรุงและรวมกิจการของวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่บางเขนกับโรงเรียนวนศาสตร์ (โรงเรียนการป่าไม้เดิม จังหวัดแพร่) มาเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แรกเริ่ม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เปิดสอนเฉพาะด้านการเกษตรเท่านั้น แต่ต่อมาได้ขยายสาขาวิชาครอบคลุมทั้งสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ประยุกต์ บริหารธุรกิจ และศิลปศาสตร์ ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2541 และอยู่ระหว่างการพิจารณาแปรสภาพจากมหาวิทยาลัยของรัฐเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
การประเมินของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยจัดการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาผลปรากฏว่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการประเมินในระดับดีมากในสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร และสาขาวิชาการประมงและสัตวศาสตร์อีกทั้งยังเป็น 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติอีกด้วยปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีวิทยาเขตที่เปิดทำการสอนทั้งหมด 4 วิทยาเขตได้แก่ วิทยาเขตบางเขน วิทยาเขตกำแพงแสน วิทยาเขตศรีราชา และวิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ทั้งยังมีโครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรีอีกหนึ่งแห่งด้วย มีคณะทั้งสิ้น 33 คณะ มีหลักสูตรที่เปิดทำการสอน 373 หลักสูตร โดยเป็นหลักสูตรนานาชาติ 38 หลักสูตรนอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งสถาบันวิจัยขึ้นตามจังหวัดต่าง ๆ หลายแห่งเพื่อดำเนินการวิจัยในศาสตร์ต่าง ๆ

วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว  

น้ำตกทรายขาว เดิมชาวบ้านเรียกว่า น้ำตกตะโกน มีต้นน้ำเกิดจากยอดเขานางจันทร์ในทิวเขาทรายขาว เทือกเขาสันกาลาคีรี ถูกค้นพบโดยพระครูศรีรัตนากร (ท่านสีแก้ว) เจ้าอาวาสวัดทรายขาว เมื่อปี 2475 อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาวมีพื้นที่ครอบคลุมป่าสงวนแห่งชาติเขาใหญ่ ในท้องที่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี อำเภอเมืองยะลา อำเภอยะหา จังหวัดยะลา และป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขาสันกาลาคีรี ในท้องที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ประกอบด้วยจุดเด่นตามธรรมชาติและน้ำตกที่สวยงาม สภาพป่าอุดมสมบูรณ์ ร่มรื่นไปด้วยพันธุ์ไม้และสัตว์ป่านานาชนิดที่ควรแก่การศึกษาหาความรู้เป็นอย่างยิ่ง ครอบคลุมเนื้อที่ประมาณ 43,482.00 ไร่ หรือ 69.57 ตารางกิโลเมตร

เดิมกรมป่าไม้ได้จัดตั้งวนอุทยานน้ำตกทรายขาวเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2497 และวนอุทยานโผงโผง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2527 ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบดูแลของสำนักงานป่าไม้เขตปัตตานี เนื่องจากวนอุทยานทั้ง 2 แห่ง มีบริเวณอาณาเขตติดต่อกัน กรมป่าไม้จึงได้มีคำสั่งที่ 1759/2528 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 ให้ นายตระกูล คุณาพัทธิ์ นักวิชาการป่าไม้ 7 หัวหน้าฝ่ายจัดการวนอุทยาน ไปสำรวจหาข้อมูลวนอุทยานทั้ง 2 แห่ง และบริเวณใกล้เคียงเพื่อรวมพื้นที่วนอุทยานทั้ง 2 แห่ง จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ และต่อมา นายปรีชา บุญมี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปัตตานี และ นายเกรียงศักดิ์ ศักดิ์คเชนทร์ สมาชิกสภาจังหวัดปัตตานี ได้มีหนังสือลงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2530 ถึง พลเอกหาญ ลีลานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สนับสนุนให้รวบรวมวนอุทยานทั้ง 2 แห่ง และขอให้สำรวจบริเวณน้ำตกอรัญวาริน ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกันรวมจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติด้วย

ตามรายงานผลการสำรวจตามหนังสือที่ กษ 0713/005 ลงวันที่ 30 เมษายน 2530 สรุปได้ว่า เห็นสมควรผนวกพื้นที่วนอุทยานทั้ง 2 แห่ง เข้าด้วยกันเนื่องจากอยู่ใกล้กันและเป็นเทือกเขาเดียวกันเหมาะที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติได้มีหนังสือที่ กษ.0713/508 ลงวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2530 เสนอกรมป่าไม้ โดย นายไพโรจน์ สุวรรณกร รองอธิบดีกรมป่าไม้ ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิบดีกรมป่าไม้ ได้มีบันทึกสั่งการลงวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2530 ให้กองอุทยานแห่งชาติดำเนินการยกฐานะรวบรวมวนอุทยานทั้ง 2 แห่ง นี้เป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติจึงได้มีหนังสือด่วนมาก ที่ กษ 0713/950 ลงวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2530 เสนอโดยกรมป่าไม้มีคำสั่งที่ 1477/2530 ลง วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2530 ให้ นายอุดม ยกฉวี เจ้าพนักงานป่าไม้ 4 ไปดำเนินการสำรวจและจัดตั้งป่าเขาใหญ่ ในท้องที่ตำบลป่าบอน (ปัจจุบันแยกเป็นตำบลช้างให้ตก) ตำบลทรายขาว ตำบลนาประดู่ ตำบลทุ่งพลา ตำบลปากล่อ อำโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ตำบลลำพะยา อำเภอเมืองยะลา ตำบลตาชี อำเภอยะหา จังหวัดยะลา และ ป่าเทือกเขาสันกาลาคีรี ในท้องที่ตำบลบ้านโหนด ตำบลเปียน ตำบลธารคีรี อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ

อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง

                                                        อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง
ทุ่งแสลงหลวง เป็นทุ่งหญ้าแบบสะวันนา อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 60 กม. สภาพพื้นที่เป็นทุ่งหญ้าโล่งใหญ่มีเนื้อที่ประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร ทางอุทยานฯ มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในเขตอำเภอเมือง อำเภอขาค้อ อำเภอหล่มสัก อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอวังทอง อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก มีเนื้อที่ประมาณ 789,000 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 27พฤษภาคม 2518 ภูมิประเทศมีลักษณะเป็นภูเขาคล้ายหลังเต่าสูง ๆ ต่ำ ๆ เป็นเทือกเขาหินปูนทอดเป็นแนวยาวมีจุดสูงสุดคือ บริเวณเขาแค เป็นต้นน้ำลำธารหลายสาย เช่น ห้วยเข็คใหญ่ และคลองวังทอง ฤดูฝนอยู่ในระหว่างเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม และฤดูหนาวระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ อากาศจะหนาวเย็นมากเหมาะแก่การไปท่องเที่ยว พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ไม้ต้นสองใบ มะม่วงป่า ประดู่ และทุ่งหญ้าที่เป็นพื้นที่โล่งกว้างใหญ่มีสนและไม้ดอกขึ้นสลับกันอยู่
          บนเส้นทางจะตัดผ่านป่าเบญจพรรณ จะพบสัตว์ป่าออกมาหากินตามข้างทางเป็นประจำและพันธุ์ไม้ดอกมากมาย นอกจากนี้ยังมีทุ่งหญ้าแบบสวันนาสลับกับป่าสนสองใบอีก 2 แห่ง คือ ทุ่งหญ้าเมืองเลน และทุ่งโนนสนตามเส้นทางเดียวกับทางเข้า พื้นที่อุทยานมีลักษณะเป็นภูเขาคล้ายหลังเต่าสูงๆต่ำๆ ทางด้านตะวันตกเป็นเทือกเขาหินปูนทอดเป็นแนวยาวตามทิศเหนือ - ใต้ ตอนกลางประกอบด้วย เทือกเขาสูงหลายแห่ง มีจุดสูงสุดคือ บริเวณเขาแค สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1,028 เมตร ทำให้บริเวณนี้ เป็นต้นน้ำลำธารหลายสาย เช่นห้วยเข็กใหญ่ ห้วยเข็กน้อย ลำน้ำทุ้ม คลองชมภู และคลองวังทอง เป็นต้น          ในระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน เป็นช่วงที่อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 29 องศาเซลเซียส ฤดูฝนระหว่างเดือนกรกฎาคม - ตุลาคม มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยประมาณ 1,700 มิลลิเมตรต่อปี และในฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์ โดยทั่วไปอากาศจะหนาวเย็นมากเหมาะแก่การไปท่องเที่ยว


สถานที่ท่องเที่ยวหน้าร้อน เกาะพีพี


กระบี่
          งดงามติดอันดับสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของโลกเลยทีเดียว สำหรับ หมู่เกาะพีพี อัญมณีเลอค่าแห่งทะเลอันดามัน ด้วยความงดงามของเวิ้งอ่าวคู่ของอ่าวต้นไทรและอ่าวโละดาลัมอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ บวกกับทะเลในสีเขียวมรกตสวยใส ที่โอบล้อมหาดทรายขาวนวลละเอียดราวแป้งของ อ่าวมาหยา พร้อมแนวปะการังและสรรพชีวิตหลากสีสันนานาพันธุ์ในโลกใต้ทะเล สิ่งเหล่านี้คือแม่เหล็กที่ดึงดูดให้นักเดินทางนับล้านชีวิตจากทั่วทุกมุมโลกหลั่งไหลมายังหมู่เกาะเล็ก ๆ แห่งนี้ เพื่อจะมาเยี่ยมเยือนและสัมผัสให้เห็นกับตาตัวเองว่างดงามสมกับที่เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นเกาะที่สวยงามติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก และคู่ควรกับที่ได้ฉายาว่า "มรกตแห่งอันดามัน สวรรค์เกาะพีพี" เพียงไร
          เกาะพีพี เป็นหมู่เกาะกลางทะเลอันดามันของไทย ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองฯ จังหวัดกระบี่ อยู่ห่างจากอำเภอเมืองฯ 42 กิโลเมตร เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ประกอบด้วย 2 เกาะใหญ่ คือ เกาะพีพีดอนและเกาะพีพีเล และมีเกาะขนาดเล็กอยู่ใกล้เคียงอีก 4 เกาะ คือ เกาะยูง เกาะไม้ไผ่ เกาะบิดะนอก และเกาะบิดะใน
          นอกจากเวิ้งอ่าวคู่แล้ว ที่เกาะพีพีเลยังมีทะเลในสีมรกตและอ่าวมาหยาที่งดงามโดดเด่นอยู่ในอ้อมกอดของเขาหินปูน และมีชื่อเสียงไปทั่วโลกจากภาพยนตร์เรื่องเดอะบีช ที่มาใช้อ่าวมาหยาเป็นสถานที่ถ่ายทำ นอกจากนี้บริเวณเกาะพีพีเลยังเป็นจุดดำน้ำตื้นและน้ำลึกที่สวยงามและเป็นที่นิยมแห่งหนึ่งด้วย
          ช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับท่องเที่ยวเกาะพีพีคือ ช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่คลื่นลมสงบ แต่ช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดจริง ๆ คือ เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน เพราะเป็นช่วงที่ฝนตกน้อยที่สุด